หน้าหลัก | ทำเนียบผู้บังคับบัญชา | ประวัติหน่วย | ติดต่อเรา

ประวัติและความเป็นมา

     ▪ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้น  ญี่ปุ่นในขณะนั้นเป็นประเทศมหาอำนาจในเอเชียกำลังหาทรัพยากรเพื่อเป็นวัตถุดิบ ในการขยายฐานอำนาจทางการทหาร  รัฐบาลไทยโดยการนำของ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เล็งเห็นว่าพื้นที่ภาคใต้มีความล่อแหลม และไม่มีหน่วยทหารคอยปกป้องอธิปไตย  ซึ่งกอร์ปกับ พลเอก ผิน ชุณหะวัน ผู้บัญชาทหารบกในขณะนั้น ขอขยายกำลังตั้งหน่วยทหารราบขึ้น 5 กองพัน และหน่วยทหารปืนใหญ่ 1 กองพัน ในพื้นที่ภาคใต้ โดยพิจารณาวางกำลัง ที่ตั้งหน่วยจากเหนือไปใต้ตามยุทธศาสตร์ ดังนี้.-

กองพันที่ 38 จังหวัดชุมพร
กองพันที่ 39 จังหวัดนครศรีธรรมราช
กองพันที่ 40 จังหวัดตรัง
กองพันที่ 41 จังหวัดสงขลา
กองพันที่ 42 จังหวัดปัตตานี
กองพันปืนใหญ่ที่ 13 จังหวัดสงขลา

     ▪ เมื่อนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้จัดตั้งหน่วยทหารหลักหน่วยแรก ซึ่งแยกตัวมาจาก ร.11 พัน.2 จังหวัดเพชรบุรี ก็ได้เดินทาง เข้าที่ตั้ง ณ ค่ายคอหงษ์ (ค่ายเสนาณรงค์) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2482 และในปีต่อมา หน่วยทหารทั้ง 6 หน่วย ก็เข้าที่ตั้งเป็นที่เรียบร้อย พร้อมที่จะปกป้องผืนแผ่นดินไทย ทุกตารางนิ้ว ในพุทธศักราช 2484 ได้เกิด กรณีพิพาทสงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศสขึ้น กองทัพบก ได้สั่งการ ให้กองพันทางภาคใต้เป็นกองหนุนของหน่วย ในภาคตะวันออก ภาคอีสาน และ ภาคเหนือ จนกระทั่งจบภารกิจก็เดินทางกลับ

ในปีพุทธศักราช 2484 ขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ตีผ่านประเทศไทย ไปยังประเทศพม่า และประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484  โดยยกพลขึ้นบกบริเวณชายฝั่งทะเล ด้านตะวันออก ของจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ซึ่งประสบกับความเสียหายอย่างหนัก จากการต้านทานของไทยจนเกิดวีรกรรมของเหล่าทหารหาญที่เสียชีวิตในหลายสมรภูมิ และได้สร้างอนุสาวรีย์ของวีรบุรุษเหล่านั้นไว้ เช่น อนุสาวรีย์วีรไทยเจ้าพ่อจ่าดำ จังหวัดนครศรีธรรมราช, พ.อ.ขุนอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี, ขุนนันทเสนีย์ เสนาณรงค์ จังหวัดสงขลา เป็นต้น จากการต่อสู้ที่ห้าวหาญในครั้งนั้น ญี่ปุ่นไม่ประสบความสำเร็จ ในการยกพลขึ้นบก และไทยสามารถป้องกันมิให้ญี่ปุ่นรุกรานพม่า และมาเลเซียได้

     ▪ ในปีพุทธศักราช 2492 จัดกำลังร่วมกับฝ่ายมาเลเซีย ในการปราบปรามโจรคอมมิวนิสต์มาลายา บริเวณ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
     ▪ ในปีพุทธศักราช 2508 ลัทธิคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของจีน ได้แผ่อิทธิพลครอบคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยเป็นเป้าหมายสำคัญตามทฤษฎีโดมิโน ในขณะนั้นกองทัพบกได้วิเคราะห์ภัยคุกคามของไทยห้วง 1-2 ทศวรรษ แล้ว หากเกิดกรณีพิพาทกองกำลังต่างชาติ อาจจะยกพลขึ้นตามชายฝั่งทะเล จึงได้พิจารณาขยายหน่วยกำลังทหารหลักในพื้นที่ภาคใต้ เป็นหน่วยระดับกองพล และใน วันที่ 3 มีนาคม 2518 ได้จัดตั้ง กองพลทหารราบที่ 5 ขึ้น เพื่อควบคุมหน่วย 2 กรมผสม โดยมีที่ตั้งครั้งแรกที่อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาย้าย กองบัญชาการกองพลไปตั้งที่ ค่ายเสนาณรงค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อปราบปรามโจรคอมมิวนิสต์มาลายาเป็นเวลา 4 ปี ซึ่งฝ่ายไทยได้สูญเสียกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และงบประมาณ จำนวนมหาศาล จนกระทั่งเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2522 ได้ย้ายกองบัญชาการกองพลเข้าที่ตั้งปกติ ณ ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช จนถึงปัจจุบัน
     ▪ กองพลทหารราบที่ 5 ประกอบด้วย กองบัญชาการกองพล และหน่วยขึ้นตรง 3 กรมทหารราบ และ 1 กรมทหารปืนใหญ่ โดยกองบัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 และหน่วยขึ้นตรง ตั้งอยู่ที่ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
กรมทหารราบที่ 5

ตั้งอยู่ที่ค่ายเสนาณรงค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีหน่วยระดับกองพัน 3 หน่วย คือ
  ▪ กองพันทหารราบที่ 1 ตั้งอยู่ที่ ค่ายเสนาณรงค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
  ▪ กองพันทหารราบที่ 2 ตั้งอยู่ที่ ค่ายสมันตรัฐบุรินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล
  ▪
กองพันทหารราบที่ 3 ตั้งอยู่ที่ ค่ายมหาจักรีสิรินธร อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา

กรมทหารราบที่ 15

ตั้งอยู่ที่ค่ายวชิราวุธ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีหน่วยระดับกองพัน 3 หน่วย คือ
  ▪ กองพันทหารราบที่ 1 ตั้งอยู่ที่ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่
  ▪ กองพันทหารราบที่ 2 ตั้งอยู่ที่ ค่ายวชิราวุธ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
  ▪ กองพันทหารราบที่ 4 ตั้งอยู่ที่ ค่ายพระยารัษฎานุประดิษฐ์ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง

กรมทหารราบที่ 25

ตั้งอยู่ที่ค่ายวิภาวดีรังสิต อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีหน่วยระดับกองพัน 3 หน่วย คือ
  ▪ กองพันทหารราบที่ 1 ตั้งอยู่ที่ ค่ายเขตอุดมศักดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
  ▪ กองพันทหารราบที่ 2 ตั้งอยู่ที่ ค่ายรัตนรังสรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง
  ▪ กองพันทหารราบที่ 3 ตั้งอยู่ที่ ค่ายวิภาวดีรังสิต อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

กรมทหารปืนใหญ่ที่ 5

ตั้งอยู่ที่ค่ายวชิราวุธ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีหน่วยระดับกองพัน 4 หน่วย คือ
  ▪ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 5 ตั้งอยู่ที่ ค่ายพระปกเกล้า อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
  ▪ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 15 ตั้งอยู่ที่ ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
  ▪ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 25 ตั้งอยู่ที่ ค่ายเขตอุดมศักดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
  ▪ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 105 ตั้งอยู่ที่ ค่ายวชิราวุธ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

 

กองพลทหารราบที่ 5 ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร ต.กะปาง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช 80310
โทรศัทพ์ 075 -495 - 074 ต่อ 45090
E - mail : infdivision5@gmail.com